วันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แนวคิดเรื่องสาเหตุของอริสโตเติล

 แนวคิดเรื่องสาเหตุของอริสโตเติล
อริสโตเติลจำแนกสาเหตุออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ สัมฤทธิเหตุ” (efficient cause) อันเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สาเหตุปลายทาง” (final cause) อันเป็นเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลง สาเหตุเชิงวัตถุ” (material cause) อันได้แก่สิ่งที่ประสบกับเปลี่ยนแปลงนั้นและ สาเหตุเชิงรูปแบบ” (formal cause) อันเป็นรูปแบบที่สิ่งหนึ่งมีขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเราจะสามารถเข้าใจการแยกแยะประเภทต่างๆ ดังกล่าวได้ชัดเจนขึ้น หากพิจารณาตัวอย่างเรื่องรูปสลักที่อริสโตเติลได้ให้ไว้ ในกรณีดังกล่าว นายช่างผู้สลักรูปสลักดังกล่าวขึ้นถือเป็นสัมฤทธิเหตุเนื่องจากเป็นผู้ทำให้ก้อนหินเกิดการเปลี่ยนแปลง ก้อนหินอ่อนที่นายช่างออกแรงแกะสลักถือเป็นสาเหตุเชิงวัตถุ ถ้าหากนายช่างผู้นั้นสลักรูปสลักนั้นเนื่องจากปรารถนาจะครอบครองงานศิลปะอันงดงาม ความปรารถนานั้นก็จะถือเป็นสาเหตุปลายทางของรูปสลักดังกล่าว และรูปทรงที่นายช่างสลักหินอ่อนก้อนนั้นขึ้นก็คือสาเหตุเชิงรูปแบบ
สำหรับอริสโตเติลแล้วสาเหตุประเภทที่สำคัญที่สุดสำหรับอธิบายธรรมชาติของรูปสลักดังกล่าว ก็คือสาเหตุปลายทาง สาเหตุด้านอื่นๆจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการที่รูปสลักรูปนั้นมีเป้าหมายปลางทาง และเป้าหมายนี้เองที่กำหนดว่าสาเหตุด้านอื่นๆ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะใด เพื่อให้ได้มาซึ่งรูปสลักที่ตอบสนองเป้าหมายปลายทางนั้น อริสโตเติ้ลเชื่อว่าเราจะสามารถเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของสรรพสิ่งได้อย่างเหมาะสม ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจเป้าหมายปลายทางและการเปลี่ยนแปลงไปสู่เป้าหมายของสิ่งเหล่านั้น แนวคิดทางปรัชญาดังกล่าวของอริสโตเติลจึงเรียกว่า อันตวิทยา(teleology) โดยที่คำว่า อันตหรือ “telos” (ในภาษากรีก) นั้นแปลว่า จุดหมาย(end) นั่นเอง

จาก สารานุกรมปรัชญาออนไลน์  http://www.philospedia.net/causation.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น